ระเบียบ
พระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 พ.ศ.2557

จันทร์ ที่ 15 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2557



พระราชบัญญัติการกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  พ.ศ.2494 พ.ศ.2557  (พรบ.Undo)

 

สรุปสาระสำคัญ

 

            การยื่นแบบแสดงความประสงค์กลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ  พ.ศ.2494 พ.ศ.2557 สามารถทำได้ครั้งเดียว ผู้ที่ยื่นแบบแสดงความประสงค์ฯ ไปแล้วจะไม่สามารถขอยกเลิกในภายหลัง

           

            สำหรับผู้สนใจขอให้ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นก่อนเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ที่  http://undo.in.th 

 

          การยื่นแบบแสดงความประสงค์ฯ สำหรับข้าราชการ  ที่เป็นสมาชิก กบข. และบรรจุก่อนวันที่ 27 มี.ค.2540  

1. ให้ยื่นแบบ ข.1 ได้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2557 โดยแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และหน้าบัญชีธนาคารพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ส่งให้กองการเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและรับรองสิทธิ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2558

2. ข้าราชการที่ออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานตาม พรฎ. ไปรับราชการทหาร ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน อยู่ระหว่างร้องทุกข์หรืออุทธรณ์คำสั่งให้ออก ปลดออกหรือไล่ออกจากราชการ ก่อนหรือในวันที่ พรบ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ และกลับเข้ารับราชการหลังวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ให้ยื่นแบบแสดงความประสงค์ตาม แบบ ข.1 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่กลับเข้ารับราชการ

3. ข้าราชการที่จะออกจากราชการไม่ว่ากรณีใดๆ ก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ยกเว้นกรณีถึงแก่ความตายหรือถูกลงโทษไล่ออกจากราชการ ให้ยื่น แบบ ข.1 ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ออกจากราชการ

 

4. เมื่อกองการเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและรับรองสิทธิของข้าราชการแล้วจะส่งแบบแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิฯ ให้ส่วนราชการผู้เบิกเพื่อบันทึกข้อมูลในระบบ e-Pension ของกรมบัญชีกลาง
- ข้าราชการที่เบิกค่ารักษาพยาบาลกับส่วนกลาง ให้ยื่นที่กองคลัง

 

- ข้าราชการที่เบิกค่ารักษาพยาบาลกับส่วนภูมิภาค ให้ยื่นที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด ที่เป็นหน่วยเบิก

                   5. เมื่อส่วนราชการผู้เบิกบันทึกข้อมูลในระบบ e-Pension ของกรมบัญชีกลางเรียบร้อยแล้วจะพิมพ์ แบบ ข.2 ให้ข้าราชการเก็บไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นรอจนกว่ากรมบัญชีกลางจะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและเอกสารแล้วเสร็จ ส่วนราชการผู้เบิกก็จะพิมพ์ แบบ ข.3 ส่งให้ข้าราชการต่อไป

 

          การยื่นแบบแสดงความประสงค์ฯ สำหรับข้าราชการบำนาญ 

1. ให้ยื่นแบบ บ.1 ได้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2557 โดยแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และหน้าบัญชีธนาคารพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ให้ส่วนราชการผู้เบิกเพื่อตรวจสอบและรับรองสิทธิ ให้แล้วแสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2558

- ผู้รับบำนาญที่เบิกบำนาญกับส่วนกลาง  ให้ยื่นที่กองคลัง

ผู้รับบำนาญที่เบิกบำนาญกับส่วนภูมิภาค ให้ยื่นที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด ที่เป็นหน่วยเบิกบำนาญ

2. กรณีหักกลบลบกันแล้วเงินบำนาญที่เพิ่มสูงกว่าจำนวนเงินก้อนที่ผู้รับบำนาญต้องคืน ส่วนราชการผู้เบิกจะพิมพ์ แบบ บ.2 แจ้งจำนวนเงินส่วนเพิ่มที่ได้รับให้ผู้รับบำนาญเก็บไว้เป็นหลักฐาน และรอจนกว่ากรมบัญชีกลางจะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและเอกสารแล้วเสร็จ ส่วนราชการผู้เบิกก็จะพิมพ์ แบบ บ.4 ส่งให้ผู้รับบำนาญต่อไป

3. กรณีหักกลบลบกันแล้วเงินบำนาญที่เพิ่มต่ำกว่าจำนวนเงินก้อนที่ผู้รับบำนาญต้องคืนส่วนราชการผู้เบิกจะพิมพ์ แบบ บ.3 แจ้งจำนวนเงินที่ต้องคืนให้ผู้รับบำนาญเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยการนำเงินมาคืนส่วนราชการสามารถทำได้ 2 กรณี

- กรณีจ่ายคืนในคราวเดียว ให้คืนภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2558

- กรณีแบ่งชำระ ให้แบ่งเป็น 3 งวดเท่าๆ กัน โดยงวดที่ 1 ภายในเดือนกรกฎาคม 2558  งวดที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม 2558  และงวดที่ 3 ภายในเดือนกันยายน 2558

(โดยเมื่อชำระเงินคืนส่วนราชการครบตามจำนวนแล้ว ส่วนราชการผู้เบิกจะพิมพ์ แบบ บ.4 ส่งให้ผู้รับบำนาญต่อไป)

4. กรณีข้าราชการหรือผู้รับบำนาญที่ยื่นความประสงค์ขอใช้สิทธิเสียชีวิตก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถือว่าการแสดงความประสงค์นั้นสิ้นสุดลง และหากมีกรณีต้องจ่ายเงิน ให้ผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายยื่นแบบขอรับเงินคืนตาม แบบ บ.6 ให้ส่วนราชการผู้เบิกบำนาญเพื่อดำเนินการโอนเงินให้แก่ผู้มีสิทธิรับมรดกต่อไป


                   สิทธิตามที่ข้าราชการและผู้รับบำนาญยื่นความประสงค์ตาม พรบ. การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 พ.ศ.2557 เริ่มมีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป

 





เข้าชม : 18855



กองบริหารทรัพยากรบุคคล กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
อาคารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ชั้น 4 ถ. มิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400